European Green Deal เดินหน้าเป็นกระแสหลักในการดำเนินธุรกิจในยุโรป [EP.9]

30 January 2023

European Green Deal เดินหน้าเป็นกระแสหลักในการดำเนินธุรกิจในยุโรป

กระแสการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม มุ่งเน้นสิทธิมนุษยชนและรักษ์สิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมานานแล้วในยุโรป ปัจจัยแรกนับเนื่องจากยุคล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยมตะวันตกตามด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรมนานนับหลายศตวรรษ โดยมีพัฒนาการจากการต่อสู้ของผู้คนร่วมกับการเติบใหญ่ของระบบทุนนิยมภายใต้สังคมเสรีประชาธิปไตยที่สร้างบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิเท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมที่เป็นทั้งนายทุน แรงงาน และผู้บริโภคในขณะเดียวกัน ขณะที่ปัจจัยหลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาตามภัยธรรมชาติที่ถาโถม ไม่มีหลักฐานใดให้อ้างอิงว่ากระแสดังกล่าวก่อตัวมาจากการปรับตัวของภาคธุรกิจที่ต้องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้บริบทของสังคมบริโภคนิยมที่เริ่มตระหนักถึงผลร้ายของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างขาดการยั้งคิดตามกระแสทุนนิยม หรือเป็นกระแสจากจิตสำนึกของผู้บริโภคที่ต้องการเห็นสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดีเหมาะสมในการดำรงชีพกันแน่ หรืออาจเกิดจากทั้งสองกระแสรวมกัน แต่ที่แน่ๆ มนุษยชาติได้ประสบภัยธรรมชาติอย่างแสนสาหัสในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นอากาศแปรปรวน หนาว/ร้อนจัด พายุรุนแรง น้ำท่วมใหญ่ ไฟป่าโหมกระพือ และแผ่นดินไหวที่เกิดถี่ขึ้น พร้อมๆ กับการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเกิดการรุกคืบกัดเซาะชายฝั่ง ฯลฯ อย่างไรก็ดีอาจเชื่อได้ว่า ภัยธรรมชาติเหล่านี้ได้กระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกหวงแหนสิ่งแวดล้อมที่ต้องรักษาไว้ทั้งเพื่อตัวเองและลูกหลาน

European Green Deal หรือแผนปฏิบัติการสีเขียวเกิดขึ้นจากแนวคิดการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนเศรษฐกิจที่ทันสมัย ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพโดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2030 และมีสถานะสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 โดยยึดแนวทางการใช้วัสดุหมุนเวียน (circularity) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (carbon neutrality) และปราศจากการปล่อยสารพิษปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม (toxic free environment) ทั้งนี้ สถานะของข้อตกลงดังกล่าวเป็นหลักการที่ผูกพันรัฐสมาชิก (policy directive) ในสหภาพยุโรปให้ดำเนินการออกกฎหมายของแต่ละท้องถิ่นตามหลักการอนุมัตินี้ภายใน 2 ปี คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกกฎหมายการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ (Corporate Sustainability Due Diligence) เป็นเครื่องมือในการกำกับแผนปฏิบัติการให้บรรลุผลด้วยมาตรการทางภาษี กฎหมายนี้ที่สอดคล้องตอบรับค่านิยมของผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่ที่เชื่อว่าการรักษ์โลกสามารถทำไปพร้อมกับการบริโภคด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยผู้ประกอบการผู้รับผิดชอบต่อสังคมเคารพสิทธิมนุษยชน แนวทางนี้จึงเป็นหนึ่งในหลายกระแสหลักผลักดันการดำเนินธุรกิจในยุโรป

แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับกับบริษัทในสหภาพยุโรปที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนผู้มีรายได้เกิน 150 ล้านยูโร และธุรกิจนอกสหภาพฯ ที่มาดำเนินธุรกิจในสหภาพยุโรป ผู้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านยูโร จะต้องจัดทำระบบตรวจสอบที่มาของวัตถุดิบและกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานของคู่ค้าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกฎหมายตั้งแต่ขั้นตอนต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างครบถ้วนหรือไม่ ตามกฎระเบียบด้านมนุษยชนและรักษ์สิ่งแวดล้อมจัดทำเอกสารเพื่อการตรวจสอบซึ่งลูกค้ามักจะมอบหมายให้ผู้ตรวจสอบเข้าสอบทาน แน่นอนที่สุด กระบวนการจัดทำระบบรองรับมาตรการและเอกสารประกอบให้กับลูกค้าจะกระทบต่อโรงงานผลิตผู้เป็นคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตต้นน้ำนอกสหภาพยุโรปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลักการของแผนปฏิบัติการสีเขียวได้รับการอนุมัติตั้งแต่ปี 2020 ขณะนี้กฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภายุโรป จากนั้นชาติสมาชิกออกกฎหมายและกำหนดขั้นตอนปฏิบัติของแต่ละชาติสมาชิกภายในระยะเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม การศึกษากฎระเบียบข้อบังคับตลอดจนการจัดทำระบบเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าวในภาคเอกชนต้องใช้เวลาเนื่องจากเป็นสิ่งใหม่

ดังนั้น การเตรียมการอย่างเนิ่นๆ ให้เกิดความพร้อมเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอาจช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งได้ในระดับหนึ่ง