ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเป็นธุรกิจยั่งยืน [EP.11]

02 May 2023

ไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการเป็นธุรกิจยั่งยืน

คำว่า “ธุรกิจยั่งยืน (corporate sustainability)” เป็นที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในแวดวงธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ค้าขายระหว่างประเทศหรือไม่ก็ธุรกิจค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายคนมองว่าเป็นสิ่งที่ไกลตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประเด็นด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนและรักษ์สิ่งแวดล้อมดูจะห่างไกลออกไปจากขอบข่ายการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หลายคนต่างสงสัยว่า ผู้ประกอบการ SME ไม่ว่าจะเป็นรับจ้างผลิตหรือร้านค้าปลีกจะเป็นธุรกิจยั่งยืนได้อย่างไร? การที่จะเป็น “ธุรกิจยั่งยืน”ดูประหนึ่งว่าเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับธุรกิจมากกว่าสร้างรายได้จึงมีผู้ประกอบการหลายคนหยุดพักที่จะสานต่อไว้แค่นี้ก่อน

หากพิจารณาธุรกิจเครื่องประดับอย่างถี่ถ้วนพบว่า ธุรกิจนี้เกี่ยวข้องในทุกด้านกับนิยามของการทำธุรกิจยั่งยืนเริ่มจากวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นโลหะมีค่าและเพชรพลอยต่างมีที่มาจากเหมืองที่ใช้แรงงานมนุษย์และวัสดุเหล่านี้สามารถนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ด้วยการหลอมหรือเจียระไนเปลี่ยนรูปทรงซึ่งจะช่วยโลกประหยัดพลังงานและทรัพยากรรวมไปถึงการใช้ไฟฟ้าส่องสว่างในโรงงานอย่างประหยัดด้วยการปรับใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนแสงอาทิตย์ที่ช่วยประหยัดบิลค่าไฟฟ้าได้มาก ขั้นตอนการผลิตในหลายขั้นตอนสามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างประหยัดและลดการสูญอย่างฝุ่นโลหะมีค่าในขณะเดียวกันการบริหารจัดการขยะ/สารเคมีอย่างถี่ถ้วนรอบคอบช่วยไม่ให้สารพิษปนเปื้อนเข้าสู่ธรรมชาติซึ่งเป็นการรักษ์สิ่งแวดล้อม ในส่วนของสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงาน ผู้มีส่วนได้เสีย และชุมชนนั้น เริ่มต้นจากการดูแลแรงงานดีเท่าเทียมไม่ใช้แรงงานอย่างเอารัดเอาเปรียบโดยให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและส่งเสริมการจ้างงานในชุมชน ซึ่งอุตสาหกรรมช่างฝีมือประเภทนี้มีวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยฉันมิตรเป็นพื้นเดิม ในส่วนของหน้าที่ต่อผู้มีส่วนได้เสียนั้น ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายโดยมีการกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมทันท่วงทีต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นหลักการกว้างๆ ของธุรกิจยั่งยืนที่เชื่อได้ว่า ผู้ประกอบการน้อยใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ได้ดำเนินการอยู่แล้วเป็นปกติ

ดังที่ยกตัวอย่างการดำเนินธุรกิจยั่งยืนข้างต้น แนวทางในการบริหารงานที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชนและรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้เกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการทั้งด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นธุรกิจที่คุณภาพของชิ้นงานขึ้นอยู่กับการฝึกฝีมือแรงงานให้เกิดทักษะเชิงช่างร่วมกับการมีความสุขในการทำงานทำให้ธุรกิจได้รับประโยชน์ทั้งระดับผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นในขณะเดียวกันลดการสูญเสียในการผลิตซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจได้อีกด้วย ในอีกมุมหนึ่ง กระแสบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมและการประกอบธุรกิจที่เป็นธรรมกดดันผู้ค้าแบรนด์รายใหญ่ต้องปรับมุมมองในการทำธุรกิจ รายงานด้านการตลาดหลายฉบับระบุว่า กลุ่มคนรุ่น Gen Y และ Gen Z ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มกับสินค้าที่มีที่มาโปร่งใสและรักษ์โลกด้วยการทราบที่มาของวัตถุดิบ (traceability) และมีระบบที่สามารถตรวจสอบได้ (accountability) แบรนด์ระดับโลกส่วนใหญ่และผู้ผลิตขนาดกลางต่างเข้าร่วมเป็นสมาชิก Responsible Jewelry Council (RJC) ที่มีผู้ตรวจสอบการดำเนินงานของสมาชิกให้เป็นไปตามจรรยาบรรณที่กำหนดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ทั้งนี้ หากพิจาณาจากโครงสร้างการดำเนินธุรกิจการผลิตเครื่องประดับอัญมณี ผู้ประกอบการ SME ดำเนินธุรกิจยั่งยืนจากการทำธุรกิจตามปกติด้วยการมุ่งเน้นการบริหารทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพทั้งวัตถุดิบและแรงงานที่เป็นหัวใจของธุรกิจประเภทนี้เพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนขณะเดียวกันสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าด้วย