ภูมิทัศน์การเมืองโลกที่เปลี่ยนไปจากมุมมองภูมิรัฐศาสตร์ [EP.4]

06 July 2022

ภูมิทัศน์การเมืองโลกที่เปลี่ยนไปจากมุมมองภูมิรัฐศาสตร์

อย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้หลังปรากฏการณ์ที่รัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ในยูเครนทำให้ชาวโลกต้องแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกเป็นสองขั้วอย่างฉับพลันระหว่างโลกตะวันตกที่มีสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักกับกลุ่มประเทศยุโรปเป็นหัวหอกและโลกตะวันออกที่มีรัสเซียกับกลุ่มประเทศบริวารเดิมในยูเรเชียมาเป็นลูกคู่โดยมีจีน อินเดียและตะวันออกกลางยืนดูอยู่นอกวงด้วยสายตาที่ดูจะเป็นมิตรกับฝ่ายหลังมากกว่ากับความพยายามเป็นกลางอย่างที่สุดของของกลุ่มประเทศในวงนอกที่อาจเป็นเป้าหมายความขัดแย้งของกลุ่มประเทศมหาอำนาจต่อไปในเอเชียแปซิฟิกอย่างอาเซียนโดยมีฉากหลังของคู่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและอิสราเอล ปัญหาของไต้หวันกับจีนในเอเชียตะวันออกและคู่กรณีสองเกาหลีพ่วงกับญี่ปุ่น บางคนพูดว่านี่อาจเป็นบทใหม่ของ “สงครามเย็น” แต่หลายคนบอกว่า “โลกกำลังก้าวเข้าสู่การจัดระเบียบโลกใหม่”

คงไม่ต้องเท้าความถึงที่มาของปมสงครามกับพิษภัยที่เห็นอยู่เจนตาบนสื่อที่ประโคมข่าวไม่เว้นแต่ละวันจนมีการอุปมาสาเหตุของสงครามในเชิงขบขันว่าเกิดจากอยู่มาวันหนึ่งภรรยาพกมีดหั่นเนื้อเข้านอนร่วมเตียงเดียวกับสามีโดยบอกสามีว่าไม่มีอะไรน่าห่วงเธอคุมสติตัวเองได้ในระหว่างหลับ ยูเครนผู้ภรรยาเป็นรัฐเดิมสหภาพโซเวียตกำลังอนุญาตให้นาโต้ติดตั้งขีปนาวุธวิถีกลางเล็งสามีรัสเซีย ที่มอสโก สื่อตะวันตกพูดถึงต้นสายปลายเหตุเรื่องนี้น้อยมากนอกจากเน้นการรุกรานขณะที่รัสเซียบอกเพื่อปกป้องภูมิภาคดอนบัส

อย่างไรก็ตาม การทะเลาะเบาะแว้งของปมสงครามยูเครนไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงที่คนทั้งโลกเดือดร้อนจากวิกฤติที่โลกกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ในระหว่างการฟื้นตัวจากวิกฤติโรคระบาด การแซงชั่นการค้าของโล  กตะวันตกต่อรัสเซียต่างหากที่เป็นสาเหตุหลักของวิกฤติพลังงานที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและแก๊สเป็นอันดับ 3 ของโลกโดยส่งออกแก๊สไปยุโรปสูงถึง 40%ของการใช้แก๊สของยุโรป และซ้ำเติมวิกฤติอาหารที่สองประเทศมีสัดส่วนผลผลิตต่อตลาดธัญพืชโลก 25% ซึ่งรวมถึงจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อผลผลิตธัญพืชเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีอันดับหนึ่งของโลก ทั้งสองปัจจัยส่งผลต่อเงินเฟ้อของทุกประเทศเนื่องจากพลังงานและอาหารเป็นปัจจัยสำคัญของการยังชีพที่มีสัดส่วนในการใช้จ่ายสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยการผลิตสินค้าและบริการส่วนใหญ่ ข้าวสาลีเป็นอาหารหลักของชาวโลกตั้งแต่ขนมปังถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สถานการณ์นี้ถูกซ้ำเติมโดยประเทศผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่อื่นๆต่างระงับส่งออกธัญพืชเพื่อสำรองไว้หากสงครามรุกลามและเพื่อควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคให้ต่ำลง

ผลจากการแซงชั่นน้ำมันและแก๊สคงไม่กระทบต่อชาวโลกมากมายขนาดนี้หากผู้ผลิตรายใหญ่ในตะวันออกกลางให้ความร่วมมือกับตะวันตกในการผลิตน้ำมันและแก๊สเพิ่มเพื่อทดแทนการนำเข้าจากรัสเซียและขณะที่สหรัฐอเมริกาผู้ผลิตน้ำมันและแก๊สรายใหญ่ของโลกอันดับหนึ่งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการแซงชั่นของยุโรปอย่างแข็งขันกลับคำไม่สามารถส่งออกน้ำมันและแก๊สให้ยุโรปทดแทนส่วนขาดจากการแซงชั่นได้ตามคำสัญญา ด้วยเหตุนี้ ราคาน้ำมันและแก๊สทั่วโลกจึงได้พุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

การปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารชาติเป็นเครื่องมือทางการคลังที่ชะลอหรืออาจแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่กัดกร่อนกำลังซื้อของผู้บริโภคเนื่องจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วขณะที่รายได้ของประชากรยังเท่าเดิมได้อย่างชะงักนักแต่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นภาระอันหนักหน่วงสำหรับธุรกิจและบุคคลผู้กู้ในทุกระดับชั้น จึงไม่ได้เหนือความคาดหมายของนักการเงินนัก สหรัฐอเมริกาได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.75% เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาสูงสุดในรอบ 28 ปีซึ่งก่อนหน้าในเดือนพฤษภาคมได้ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ปรากฏการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไปทั่วโลกและตลาดเงินคริปโตที่ตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นักลงทุนเทขายหุ้นทั่วโลกเพื่อเคลื่อนย้ายเงินกลับสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงและไม่มีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินทั่วโลกอ่อนตัวต่อเงินเหรียญสหรัฐต่อเนื่องในขณะเดียวกันหลายประเทศเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน เงินสำรองต่างประเทศร่อยหรอมีไม่เพียงพอชำระเงินกู้ระยะสั้นและนำเข้าน้ำมันและอาหารเนื่องจากเงินไหลออกจำนวนมากจนเกิดเป็นวิกฤติทางการเงินที่เริ่มทอดเงาดำทมึนปกคลุมเศรษฐกิจโลก